img

สมองล้า! สัญญาณหลักของการนอนไม่หลับ

img
  • Admin
  • 22/Jun/2022 07:00 pm
  • Skin
  • 0 View

ในปัจจุบันอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) นั้นพบในผู้คนเป็นจำนวนมาก จากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่โลกของเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตตลอดเวลา เริ่มติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะติดซีรีส์ เล่น Social media รวมไปถึงการทำงานในช่วงเวลากลางคืนที่ให้ความรู้สึกที่เงียบและมีสมาธิมากกว่ากลางวัน หรือจะเป็นโลกที่มีการแข่งขันสูงขึ้นที่นักเรียนนักศึกษาอ่านหนังสือโต้รุ่ง มีการใช้ชีวิตในเวลากลางคืนมากขึ้น อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า “มนุษย์กลางคืน” หรือ “มนุษย์ค้างคาว” ที่นอกจากจะนอนผิดเวลาแล้ว การที่เราใช้หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปนั้นจะส่งผลต่อสมองของเราโดยตรงเนื่องจากอุปกรณ์เรานั้นจะปล่อย “แสงสีฟ้า (Blue light)” ออกมาและไปยับยั้งการผลิตสารที่ควบคุมการนอนหลับและนาฬิกาชีวิตอย่าง Melatonin จากต่อมไพเนียลที่สมอง พอจะกลับมานอนอย่างปกติก็ทำไม่ได้เสียแล้ว หรือต้องใช้เวลาในการปรับตัวเป็นระยะเวลาหนึ่ง ส่งผลให้ในช่วงเวลากลางวันนั้นมีอาการง่วงนอน ไม่สดใส หรือมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง รวมไปถึงการมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียดและการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอนั้นอาจทำให้ตกอยู่ในสภาวะ “สมองล้า (brain fog)” ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุของอาการหลงลืม สมาธิสั้น รวมไปถึงโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ดังกล่าวจะถูกจำแนกออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. Short-term insomnia/Transient Insomnia/Acute Insomnia คือการนอนไม่หลับบ้างเป็นครั้งคราว โดยอาการนี้จะแสดงออกไม่เกิน 3 สัปดาห์ สาเหตุของอาการดังกล่าวส่วนมากมาจาก

  • ความกดดันเฉียบพลันและความเครียด เช่น ใกล้สอบ ใกล้ส่งงาน มีปัญหากับครอบครัว ทะเลาะกับเพื่อน
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขณะนั้น เช่น การเปลี่ยนที่นอน Jet lag มีแสงไฟรบกวน
  • ปัญหาด้านร่างกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ไม่สบายตัว
  • การใช้สารกระตุ้นประสาทอย่างการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน


2. Long-term Insomnia/Chronic Insomnia คือการนอนไม่หลับเรื้อรังเป็นระยะเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะจาก

  • ความผิดปกติทางจิตใจ เช่น เป็นภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล
  • อาหารการกินที่เป็นกิจวัตร เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สารกระตุ้นประสาทอย่าง นิโคติน สารเสพติดต่าง ๆ
  • อาการเจ็บปวดทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท อย่างการเป็นโรคเรื้อรัง มีอาการเจ็บปวดเรื้อรัง
  • พฤติกรรมบางอย่างที่ส่งผลกระทบทางจิต เช่น ความเครียด ความโศกเศร้า สิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่กระตุ้นความรู้สึกที่ไม่เป็นตัวเอง

โดยไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอาการประเภทไหนก็จะมีการแสดงออกของการนอนไม่หลับในลักษณะคล้าย ๆ กันในหลากหลายรูปแบบ เช่น

  • Initial Insomnia คือการที่หัวถึงหมอนแล้วแต่นอนไม่หลับ ต้องใช้เวลานานมากกว่า 1 ชั่วโมงถึงจะสามารถหลับลงได้
  • Middle Insomnia คือการหลับไม่สนิท หลับไม่อิ่ม ตื่นกลางดึก หลับ ๆ ตื่น ๆ
  • Late Insomnia, Terminal Insomnia, Sleep Offset Insomnia คือมีอาการตื่นไวกว่าเวลาที่ควรจะตื่น โดยเมื่อตื่นแล้วครั้งหนึ่ง จะไม่สามารถนอนหลับได้อีกครั้งในช่วงเวลาใกล้เคียง
  • เป็นนกฮูก ที่ง่วงเวลากลางวัน ไม่สดใสเมื่อตื่นขึ้นมา แต่ตื่นตัวเวลากลางคืน
  • มีชั่วโมงนอนที่น้อยเกินไป คือต่ำกว่า 8 ชั่วโมง
  • หงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น การตอบสนองต่อสิ่งเร้าช้าลง

และไม่ว่าใครก็มีความเสี่ยงต่ออาการดังกล่าวได้ทั้งสิ้น แต่การใช้ชีวิตหรือการมีลักษณะร่างกายบางประการก็สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกระตุ้นอาการนอนไม่หลับให้ทวีความรุนแรงได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
  • การมีอายุที่มากกว่า 60 ปี ที่ร่างกายเริ่มเสื่อมโทรมลง ไม่สามารถผลิตสารช่วยนอนหลับอย่าง Melatonin ได้อย่างเป็นปกติ รวมถึงมีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นมีการหลับตื้นมากกว่าหลับลึก หลับไม่อิ่ม
  • การเข้าวัยหมดประจำเดือน ที่ร่างกายจะแปรปรวน มักมีเหงื่อออกและร้อนวูบวาบเวลากลางดึก รบกวนการนอน
  • การตั้งครรภ์ และช่วงมีประจำเดือน ที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสูง
  • การมีพฤติกรรมการนอนหลับไม่เป็นเวลา ที่ร่างกายจะเริ่มชินกับเวลาที่เปลี่ยนไป
  • การเผชิญกับความเครียดและความวิตกกังวล

แล้วถ้ายิ่งมีสาเหตุข้างต้นร่วมกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว นั้นคือสิ่งที่คุณต้องรีบกังวลและอย่าละเลยพฤติกรรมเหล่านั้น เพราะมันเป็นสัญญาณร้ายที่ต้องระวัง! เนื่องจากอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) อาจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ตั้งแต่ความรุนแรงน้อยจนไปถึงความรุนแรงต่อชีวิตได้ เริ่มตั้งแต่


  • ด้านระบบประสาทและสมอง เช่น การกลายเป็นคนเฉื่อยชา สมองไม่แล่น ปวดหัวง่าย การตัดสินใจช้า พูดจาไม่รู้เรื่อง มีปัญหากับการทำงานหรือการเรียนรู้ รวมถึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และโรคในระบบประสาทและสมองต่าง ๆ
  • ร่างกายมีระบบการจัดการเมแทบอลิซึมที่แย่ลง มีแนวโน้มที่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายของเราจะกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารที่มากขึ้นตามมา รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ จากการที่กระบวนการสร้างฮอร์โมนเพศอย่างเทสโทสเทอโรนนั้นลดต่ำลง
  • เกิดภาวะภูมิต้านทานต่ำ (Immunosuppression) และร่างกายเกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังมากขึ้น ส่งผลให้ป่วยง่ายขึ้น อ่อนแอ ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้บ่อย ถ้าเป็นหนักอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้
  • ระบบหัวใจและหลอดเลือดมีปัญหา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และหัวใจมีอัตราการเต้นที่เร็วขึ้น

เราจะเห็นได้ว่าการนอนไม่หลับที่ส่งผลให้เกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอนั้นมีแต่ความร้ายแรงที่สามารถทวีความรุนแรงได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลต่อการทำงานของร่างกายในหลาย ๆ ระบบไม่ว่าจะระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหมุนเวียนโลหิต รวมไปถึงระบบประสาทและสมอง ซึ่งการทำงานที่มีปัญหาของระบบดังกล่าวนั้นสามารถร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เราจึงต้องดูแลสุขภาพการนอนของเราอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสมองและการนอนหลับอย่างเป็นประจำ เมื่อการนอนดี ร่างกายของเราก็จะดีขึ้น


แหล่งข้อมูลแหล่งอ้างอิง


1. Thomas Roth. 2007. Insomnia: Definition, Prevalence, Etiology, and Consequences. Journal of Clinical Sleep Medicine 3(5 Suppl):S7-S10.
2. David A. Kalmbach, Jason R. Anderson, and Christopher L. Drake. 2018. The impact of stress on sleep: Pathogenic sleep reactivity as a vulnerability to insomnia and circadian disorders. Journal of Sleep Research 27:1-21. DOI:10.1111/jsr.12710J Sleep
3. Dag Neckelmann, Arnstein Mykletun, and Alv A. Dahl. 2007. Chronic Insomnia as a Risk Factor for Developing Anxiety and Depression. Sleep 30(7):873-880. DOI:10.1093/sleep/30.7.873
4. Dhaval Patel, Joel Steinberg, and Pragnesh Patel. 2018. Insomnia in the Elderly: A Review. Journal of Clinical Sleep Medicine 14(6):1017-1024. DOI:10.5664/jcsm.7172
5. Karen Lamoreux, Crystal Raypole, and Nick Villalobos. 2022. Everything You Need to Know About Insomnia. [Internet]. accessible from: https://www.healthline.com/health/insomnia#pregnancy
6. Harvard medical school. 2020. What is blue light? The effect blue light has on your sleep and more. [Internet]. accessible from: https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/blue-light-has-a-dark-side
Tags:
Zinc, วิตามิน C และ D3 ตัวช่วยบูสท์ภูมิคุ้มกัน เทคนิคห่างไกลโรคร้ายที่หลายคนมองข้าม
แก้ปัญหาการนอนไม่หลับที่ดีกว่า หลับสนิท ไม่ตื่นกลางดึก ด้วย L-Theanine